โดรน-เพื่อการเกษตร

​        โดรน (DRONE) เป็นเครื่องมือที่จัดอยู่ในประเภทอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) แรกเริ่มนั้นมีการใช้งานทางด้านการทหารเพื่อสอดแนมข้าศึกหรือแม้กระทั่งติดอาวุธเพื่อทำลายศัตรูจากระยะไกล โดยไม่ต้องเสี่ยงนำคนเข้าไปในพื้นที่อันตราย ซึ่งต่อมาถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนมีการนำมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การนำโดรนมาติดกล้องเพื่อสามารถถ่ายภาพมุมสูง ตรวจสภาพจราจร เก็บข้อมูลภูมิศาสตร์ และเมื่อเร็วๆ นี้มีการทดลองใช้ โดรนในการส่งสินค้า เป็นต้น ด้วยข้อดีหลายๆ ประการของโดรนจึงได้มีการพัฒนามาใช้ทางด้านการเกษตรด้วย โดยสามารถใช้โดรนปฏิบัติการพ่นสารเคมี ปุ๋ย ฮอร์โมนพืช ที่ใช้ได้ทั้งกับการทำเกษตรแบบทั่วไปหรือเกษตรอินทรีย์ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศ เช่น จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งข้อดีที่สำคัญในการใช้โดรนทางการเกษตรทั่วไปคือ เกษตรกรปลอดภัย ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมี ไม่ต้องเดินเข้าสัมผัสแปลงปลูกพืชโดรนเพื่อการเกษตรในการฉีดพ่น รุ่น MG1

            สำหรับประเทศไทยพบว่า การนำโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้นั้นยังไม่แพร่หลายนัก มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ให้บริการจำหน่ายหรือประกอบโดรนเพื่อการเกษตร โดยยกตัวอย่างของ บริษัท เอส. เอ. ที. ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ซึ่งมีการจำหน่ายและให้บริการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับด้านการเกษตร รวมถึงโดรนเพื่อการเกษตร สำหรับฉีดพ่น และ สำรวจสภาพผลผลิต เป็นต้น บริษัทนี้เริ่มมาจากเกษตรกรคือ คุณปรกชล พรมกังวาน และ  คุณกันตพงษ์ แก้วกมล(ประธานเครือข่าย Young Smart Farmer ประเทศไทย ปี 2559) ได้ร่วมกับผู้บริหารของบริษัทที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรต่างๆ
โดยคุณปรกชล เล่าให้ฟังว่า ตนเองเริ่มต้นทำการประกอบโดรนเพื่อใช้ในการเกษตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558
เพื่อช่วยฉีดพ่นในสวนลำไย โดยเหตุผลที่เลือกใช้โดรนมาทำการเกษตร เนื่องจากผลิตลำไยอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ต้องใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคและแมลง การดูแลต้นลำไยอินทรีย์กว่า
50 ไร่ และการที่ต้นลำไยค่อนข้างเป็นทรงพุ่มสูง ทำให้การฉีดพ่นไม่ค่อยทั่วถึง ดังนั้นจึงได้ค้นหาวิธีการที่จะใช้เครื่องอำนวยความสะดวกเพื่อมาฉีดพ่นสารดังกล่าว ซึ่งก็ได้สืบค้นและหาความรู้จากทางอินเตอร์เน็ต และทำให้ได้ข้อสรุปว่าต้องเป็นอุปกรณ์ประเภทเครื่องบินเพื่อการเกษตร แต่ก็พบว่าเครื่องบินเพื่อการเกษตรนั้นมีขนาดใหญ่ และราคาสูง จากการสืบค้นพบว่าที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อการเกษตรกันมาก แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังพบว่ามีข่าวอุบัติเหตุที่เฮลิคอปเตอร์ใบพัดหลุดและทำให้คนเสียชีวิต จึงค่อนข้างอันตรายต่อผู้ใช้ จนสุดท้ายพบว่าในต่างประเทศ เช่นในประเทศจีนมีการใช้เครื่องโดรนขนาดใหญ่ใช้ทางการเกษตรได้ และสามารถที่จะบังคับได้โดยผู้บังคับไม่ต้องขึ้นไปอยู่
บนเครื่อง จึงได้ตัดสินใจลองใช้โดรนเพื่อ ใช้ในสวนลำไยของตนเอง ทั้งนี้เคยประกอบโดรนเองมาแล้ว 5 ลำ โดยการศึกษาจากการแกะรื้อชิ้นส่วน แล้วทำการสั่งซื้อชิ้นส่วนมาประกอบ โดยสั่งจากประเทศจีน ลำแรกยังไม่มีประสิทธิภาพที่ ดีพอ จนกลางปี 2559 เริ่มที่จะประกอบ ได้ดีและสามารถนำมาใช้งานได้ดีพอสมควร แต่การบังคับโดรนประกอบนั้น ผู้บังคับต้องมีความรู้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการบังคับโดรนประกอบอย่างมาก ขณะที่ราคาโดรนประกอบจะอยู่ที่ ตั้งแต่ 1 แสน – 3 แสนบาท (โดรนที่ปรกชลเคยประกอบเองอยู่ที่แสนกว่าบาท) ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ ที่เคยทำเองมี 

ตั้งแต่ 3 และ 5 ลิตร เมื่อทำการทดลองใช้งานโดรนในสวนลำไยได้ผล จึงเริ่มเผยแพร่ให้เกษตรกรคนอื่นๆ ได้รู้จักการใช้โดรน ซึ่งมีข้อดีในการทำการเกษตรมากมาย
สำหรับการรวมทีมกับผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรในเครือข่ายก่อตั้งบริษัทเพื่อจำหน่ายโดรน เพราะเห็นแล้วว่า โดรนที่ประกอบมาจะสามารถประหยัดแบตเตอรี่ได้มากกว่า (หลังจากที่ลองประกอบโดรนใช้เองมาหลายเครื่อง สุดท้ายตัดสินใจเลือกใช้โดรนที่ประกอบได้มาตรฐาน) เพราะมีการรับรองมาตรฐานและ รับประกันคุณภาพ ซึ่งที่เลือกใช้คือ รุ่น MG1 ของบริษัท DJI ประเทศจีน เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านโดรนถ่ายภาพอยู่แล้ว และก็มีโดรนเพื่อการ เกษตรรุ่นนี้ด้วย ซึ่งเป็นโดรนขนาด 10 ลิตร จึงประหยัดแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่  1 ก้อนสามารถใช้ในการฉีดพ่นสารอารักขา พืชได้ 20  ลิตร ในระยะเวลาประมาณ 15-20 นาที โดยระยะเวลาการทำงานขึ้น อยู่กับจำนวนแบตเตอรี่สำรอง แบตเตอรี่สำรอง 6  ก้อน สามารถทำงานได้ขั้นต่ำประมาณ 50 ไร่ต่อวัน หรือถ้ามีแบตเตอรี่น้อย ก็สามารถพักชาร์จแบตเตอรี่ได้ โดยใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ประมาณ 45 นาที  แต่ถ้ามีแบตเตอรี่สำรองถึง 10 ก้อน จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้ทั้งวันอย่างน้อย 100 ไร่

           “ซึ่งจากความสามารถดังกล่าว พบว่าหากค่าจ้างฉีดพ่นในแปลงเกษตรต่อไร่ประมาณ 100 บาท ดังนั้นถ้าเป็นผู้รับจ้างฉีดพ่นสารอยู่แล้วใช้โดรนเข้าไปแทนในตรงนี้ได้ อย่างต่ำสามารถสร้างรายได้ 5 พันบาท – 1 หมื่นต่อวัน ซึ่งการคืนทุนจะเร็วมากและคุ้มค่าประหยัดเวลาการทำงาน ประหยัดแรงงาน และมีความปลอดภัยต่อผู้ฉีดมากกว่าการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิมหรือการใช้คนเดินฉีด เพราะการทำงาน ผู้ที่ทำการบังคับการบินของ โดรนจะอยู่ด้านนอกแปลง จึงไม่สัมผัสกับสารที่ฉีดพ่น อีกทั้งความสามารถของโดรนซึ่งเป็นข้อดีมากๆ คือให้ละอองที่ละเอียดมาก เข้าถึงใบพืชอย่างทั่วถึง สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ใช้สารเคมีน้อยลงได้ถึง 50% ซึ่งในข้อนี้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัยจากสารเคมีมากกว่าการฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตรแบบดั้งเดิม โดยสามารถใช้กับพืชได้หลากหลาย ซึ่งจากประสบการณ์ในการให้บริการฉีดพ่นสารอารักขาพืชด้วยโดรนนั้น ได้แก่ ลำไย อ้อย ข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กล้วย กุหลาบ ปอเทือง เป็นต้น”
  คุณปรกชลยังบอกด้วยว่า ประโยชน์ที่ได้จากการใช้โดรนเพื่อการเกษตร เช่น ประหยัดน้ำได้กว่า 90% ช่วยลดเวลาการทำงานได้มากถึง 80% และลดต้นทุนค่าปัจจัยการผลิตลงกว่า 30-50% แถมเพิ่มผลผลิตได้ 10-35% พร้อมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งสำหรับ โดรนทางการเกษตรของบริษัท DJI จะมีระบบอัจฉริยะช่วยในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ 1.ช่วยนำเส้นทางการบินฉีดพ่น อัตโนมัติ 2.จดจำตำแหน่งสุดท้ายของการหยุดพักหรือน้ำหมดถัง สามารถกลับไปเริ่มต้น ณ จุดเดิมได้  3. ปรับระดับความสูง-ต่ำระหว่างการบินอัตโนมัติ ในกรณีที่มีพื้นที่ลาดชันหรือต่ำลง
ดังนั้นนวัตกรรมโดรนเพื่อการ เกษตรจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ทำให้เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในยุค 4.0 ได้อย่างปลอดภัยทั้งกับตัวเองและผู้บริโภคด้วย
             สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เอส. เอ. ที. ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด (S.A.T.I. Platform Ltd.) 43/161 ซอยลาดพร้าว 80 แยก 26 ถนนลาด พร้าว แขวง/เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 หรือโทร. 081-951-7056  (คุณปรกชล) และ 088-547-6212 (คุณกันตพงษ์)