กรุงเทพฯ – นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผึ้งโพรง (Apis cerana) เป็นผึ้งพื้นเมืองของไทยมีทุกภูมิภาค เป็นแมลงช่วยผสมเกสรพืชตามธรรมชาติ พืชผลทางการเกษตร โดยการเลี้ยงให้ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ ความหลากหลายของพืชอาหารผึ้ง มีปริมาณน้ำหวานและเกสรมากต่อเนื่อง เกษตรกรมือใหม่สามารถทำการล่อผึ้งโพรงจากธรรมชาติมาใส่คอนเลี้ยงไว้ในกล่องเลี้ยงได้เอง ซึ่งการจัดการไม่ยุ่งยาก ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ บวกกับผลิตภัณฑ์จากผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และน้ำผึ้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เก็บได้นาน จำหน่ายได้ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางด้วย

รูปแบบการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยในปัจจุบัน มี 3 ขั้นตอน คือ

   1) เลือกสถานที่ตั้งรังผึ้งโพรง โดยให้เลือกพื้นที่ที่มีพืชอาหารของผึ้งโพรงอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ น้ำหวาน เกสรดอกไม้ และควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด ร่มเย็นหรือใต้ต้นไม้ ไม่มีลมโกรก ห่างจากแหล่งชุมชน และปลอดจากการใช้สารป้องกันกำจัดแมลง

   2) การหาผึ้งโพรงมาเลี้ยง เลือกทำได้หลายวิธ ได้แก่

   – การซื้อ ควรเลือกซื้อที่มีรังสมบูรณ์มีตัวอ่อน น้ำผึ้งและเกสรเพียงพอ และต้องซื้อช่วงที่ผึ้งอยู่กับที่ไม่หนีรังและเป็นช่วงที่มีดอกไม้บาน

   – การล่อผึ้ง เป็นวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงที่เริ่มหมดฤดูฝนและพืชกำลังออกดอก รังที่เหมาะสมในการล่อผึ้งควรทำจากไม้เก่าๆ หรือทำด้วยใบหรือทางมะพร้าว ก่อนที่จะนำไปวางรังล่อผึ้งจะต้องเตรียมไขผึ้งโพรงที่บริสุทธิ์ทาบริเวณฝารังก่อน ด้านหน้ามีรูให้ผึ้งเข้าออกได้ ควรตั้งให้สูงจากพื้นดิน 50 ซม.-1 เมตร และควรดูแลทำความสะอาดรังไม่ให้มีมดเข้ามาทำรังอาศัยอยู่ โดยตรวจสอบรังทุก 7-10 วัน และวิธีสุดท้าย

   – การจับผึ้งเข้าคอน เป็นวิธีการที่นำผึ้งที่อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ โพรงหิน หรือซอกหิน หรือกำลังอพยพเกาะรวมกลุ่มกันบนกิ่งไม้ นำมาตัดรวงบังคับเข้าคอนแล้วนำไปวางเลี้ยงในกล่องเลี้ยงที่เตรียมไว้ โดยการตัดรวงผึ้งในรังผึ้งมาใส่ในคอนผึ้ง หลังจากนั้นก็จับนางพญาผึ้งใส่กลัก และพยายามปัดตัวผึ้งเข้าในรังใหม่ให้มากที่สุด ผึ้งงานจะเข้าในรังใหม่ตามนาง พญาผึ้ง ทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงปล่อยนางพญาผึ้ง จะได้รังใหม่มา 1 รัง ทำได้ทั้งปี โดยต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ รังเลี้ยง คอนผึ้ง รังล่อผึ้งโพรง ชุดป้องกันผึ้งต่อย หมวกกันผึ้งต่อย แปรงปัดตัวผึ้ง กลักขังนางพญา เครื่องพ่นควัน มีด ลวดแสแตนเลส เป็นต้น 

    3) การจัดการดูแลรังผึ้งโพรง ควรตรวจรังผึ้งทุก 10 วัน ในช่วงเช้าหรือเย็น

    อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อควรปฏิบัติการจัดการดูแลรังผึ้งโพรง ได้แก่ การตรวจภายนอกรังผึ้ง สังเกตได้จากตัวผึ้งที่เลี้ยงมีสุขภาพดี คือผึ้งงานมีเกสรติดขาหลังมา และบินเข้าออกจากปากทางเข้าสม่ำเสมอ หน้ารังสะอาด ไม่มีศัตรูรบกวน เช่น มด คางคก เป็นต้น การตรวจภายในรังผึ้ง ตรวจได้จากการดูปริมาณผึ้งให้สัมพันธ์กับคอน โดยที่มีผึ้งเกาะเต็มทุกด้านของคอน มีการเก็บน้ำผึ้งมาก และตรวจดูการวางไข่ของนางพญาผึ้ง นางพญาผึ้งที่ดีจะวางไข่สม่ำเสมอ ไม่ดุ ขยันหาอาหาร ต้านทานโรค และไม่ควรให้มีการสร้างหลอดนางพญาบ่อย ๆ ตลอดจนตรวจดูสภาพรวงผึ้ง โรคและศัตรูผึ้ง เช่น หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ไรศัตรูผึ้ง ถ้ามีต้องป้องกันและกำจัด

    สำหรับการเก็บน้ำผึ้งในได้คุณภาพควรเก็บในช่วงที่มีน้ำผึ้งปริมาณมากๆ น้ำผึ้งที่ได้ควรมีความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 21 โดยการเก็บน้ำผึ้งจะมี วิธีเก็บ 2 วิธี ได้แก่

   วิธีที่ 1 เก็บจากรังล่อ ผึ้งโพรงจะสร้างรวงอยู่ใต้ฝารัง ให้หงายฝารัง ตัดเอาเฉพาะรวงน้ำผึ้ง ส่วนรวงตัวอ่อนและดักแด้ให้นำเข้าคอนแล้วเก็บไว้ในรัง นำส่วนที่เป็นน้ำผึ้งมาสับลงบนตะแกรงกรองสแตนเลสเพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมา

   วิธีที่ 2 เก็บจากรังที่นำรวงผึ้งใส่คอน ให้ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้งแล้วนำไปสับบนตะแกรงเพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมา กรณีมีถังสลัด ให้นำรวงที่มีน้ำผึ้งมาปาดไขผึ้งที่ปิดหลอดรวงออกทั้งสองด้าน แล้วนำไปใส่ถังสลัดแล้วกรองน้ำผึ้งด้วยตะแกรงกรอง จากนั้นพักน้ำผึ้งไว้ในถังหรือภาชนะปากกว้าง 1 สัปดาห์ ควรกรองด้วยผ้ากรองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน แล้วจึงนำน้ำผึ้งไปบรรจุในภาชนะที่สะอาดเพื่อจำหน่ายต่อไป

    ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : สำนักส่งเสริมและจัดการ ,ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร