นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าวันที่ 5 มิถุนายน นี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติด เพื่อให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และ เป็นพืชเศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยร่างแก้ไขพรบ.ยาเสพติด ที่นำเสนอเข้าสู่การประชาพิจารณ์ของประชาชน ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ผู้ป่วยที่มีแพทย์รับรอง และต้องใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยของตนเอง ให้ขออนุญาตปลูกกัญชา เพื่อพึ่งพาตนเองได้ 2. เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกกัญชาเพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา ให้ขออนุญาตปลูกได้ ในรูปของคอนแท๊กฟาร์มมิ่ง กับผู้ผลิตยา จะเป็นโรงพยาบาล แพทย์แผนไทย หรือ หมอพื้นบ้าน ก็ได้ การที่ให้ทำในรูปของคอนแท๊กฟาร์มมิ่ง หรือ ต้องมีสัญญาการรับซื้อผลผลิตก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ ก็เพื่อที่จะป้องกันผลผลิตล้นตลาด และต้องนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเกษตรกร ที่ลงทุนแล้วขายผลผลิตไม่ได้ หรือขายไม่ได้ราคา เหมือนพืชผลการเกษตรอื่นๆ
“หลักการสำคัญที่ผมให้นโยบายไปก็คือ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แก้ปัญหาข้อจำกัด ที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ผมให้นโยบายไปว่าประชาชนที่มีความพร้อม และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้ จะต้องปลูกได้ อย่าจำกัดสิทธิของประชาชน ไม่จำเป็นต้องปลูกในนามวิสาหกิจชุมชนก็ได้ ประชาชนที่เป็นผู้ป่วย เมื่อแพทย์รับรองแล้ว สามารถมายื่นขออนุญาตปลูกได้เลย หรือ เกษตรกรคนใดอยากปลูก เพื่อสร้างรายได้ ถ้ามีสัญญารับซื้อผลผลิตจากผู้ผลิตยา ก็ขออนุญาตปลูกได้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ขอให้ประชาชน ผู้ป่วยเกษตรกรช่วยกันร่วมให้ความเห็นเพื่อให้การแก้ไขพรบ.ยาเสพติด ครั้งนี้ เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่ต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ และ ต้องการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้มีการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ประโยชน์ได้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และมีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป และการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จำเป็นต้องทำ เพื่อให้เจตนารมณ์ของการใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นประโยชน์กับประชาชนได้จริง ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความเห็นประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายได้ ในเว็บไซต์ของอย. จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน นี้