เชื่อมั่นดินเค็มปลูกพืชได้ดี ถ้าปรับปรุงดินอย่างถูกต้อง

หมอดินอาสาตำบลคอกช้าง ถ่ายทอดความรู้การทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมักชีวภาพ จากสาร พด. ฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม ช่วยลดต้นทุน และปลูกพืชได้ดี

นายสุนทร พันละเกตุ หมอดินอาสาประจำตำบลคอกช้าง อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พื้นที่ตำบลคอกช้างมีปัญหาดินเค็มปานกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวเป็นหลัก ทำให้ได้ผลผลิตข้าวไม่ดีเท่าที่ควร ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และที่สำคัญแปลงนาส่วนใหญ่เป็นแปลงขนาดเล็กไม่มีคันนา ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือปลูกพืชอื่นบนคันนาได้

แต่หลังจากที่สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย เข้ามาทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เมื่อปี 2561 ที่บ้านดงแสนแผง ม.2 ต.คอกช้าง อ.สระใคร ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 62 ราย และทำต่อเนื่องในปีนี้อีก 900 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 38 ราย เพื่อลดผลกระทบจากดินเค็มที่มีต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร โดยมีการเข้ามาปรับรูปแปลงนาให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มีคันนาใหญ่ขึ้นสามารถปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มอย่างยูคาลิปตัสและกระถินออสเตรเลียได้ พร้อมกับทำแปลงสาธิตปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน

ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนในด้านผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นหรือรายได้จากการขายไม้เศรษฐกิจบนคันนา เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลคอกช้างก็มีความตื่นตัวและเชื่อมั่นว่าโครงการที่สถานีพัฒนาที่ดินหนองคายเข้ามาดำเนินการในพื้นที่จะส่งผลดีในระยะยาว สามารถแก้ปัญหาดินเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และมีรายได้เสริมจากการปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนา ตัวอย่างเกษตรกรบางรายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ยังกล้าลงทุนปรับรูปแปลงนาเองตามแบบของกรมพัฒนาที่ดิน

“ผมในฐานะเป็นหมอดินอาสาประจำตำบล และเป็นเจ้าของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลคอกช้าง ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและใช้สารอินทรีย์ทางการเกษตรเพื่อปรับปรุงดินเค็ม ได้แก่ การทำปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่ง พด.1 น้ำหมักชีวภาพ โดยใช้สารเร่ง พด.2 การผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยใช้สารเร่ง พด.7 การใช้ปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) ปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากนี้ ยังได้นำทุกสิ่งที่ถ่ายทอดไปดำเนินการในแปลงนาสาธิตของตนเอง เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนได้เห็นว่าพื้นที่ดินเค็มสามารถใช้ประโยชน์ทำการเกษตรได้ หากรู้จักวิธีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งทุกวันนี้มีเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบลมากขึ้น และได้นำความรู้ไปต่อยอดขยายผลฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มของตนเอง ให้สามารถทำการเกษตรได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง” หมอดินอาสา กล่าว