ยโสธร ร่วมบูรณาการจัดกิจกรรมรณรงค์ “เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร” ส่งเสริมเกษตรกรทำนาอินทรีย์ มุ่งสร้างความยั่งยืน

นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรมรณรงค์เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร จังหวัดยโสธร โดยมีนายวิรัตน์ ภานนท์ สหกรณ์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยนายประภาส สังข์ขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

จังหวัดยโสธรได้ทำเกษตรอินทรีย์มายาวนานอย่างต่อเนื่องของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดยโสธร จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือกให้จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนและขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านการเพิ่มจำนวนเกษตรกร จำนวนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวนผลผลิต แปรรูปจากผลผลิต และองค์ความรู้ด้านต่างๆ จากการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์คือ การทำการเกษตรแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม

ทั้งนี้ เพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต เกษตรอินทรีย์ปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ นอกเหนือจากการปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรของธาตุอาหาร การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้องสังเกต ศึกษา เกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง ซึ่งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร (Smart Organic Farm) สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ที่จะสามารถพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมกับเกษตรกรในพื้นที่ได้ โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การแข่งขันดำนาอินทรีย์ การปล่อยกบปล่อยปลาลงนาอินทรีย์ และเยี่ยมชมกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร

จังหวัดยโสธร มีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ จนถึงปลายทางด้านการตลาด มีการเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับหุ้นส่วนการพัฒนารายใหม่ๆ ระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่จังหวัดยโสธรจะพัฒนาให้เป็น “เมืองเกษตรอินทรีย์” หรือ “Land of Organic” ซึ่งถือเป็นทางเลือกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านของคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ จังหวัดยโสธร ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร (Smart Organic Farm) ดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ จำนวน 22 ไร่ ในศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพด้านการผลิต ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้จัดกิจกรรมลงแขกดำนาแปลงนาอินทรีย์ เพื่อเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีลงแขกดำนาที่ดีงามของไทยไว้ และการจัดงานประเพณีการลงแขกดำนา อยากให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสเข้าใจถึงวิถีชีวิต เห็นความสำคัญของการประเพณีการลงแขกดำนา เพื่อจะได้ร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีลงแขกดำนา ซึ่งเป็นการรณรงค์เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร จังหวัดยโสธรสืบไป