นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของจ.อ่างทอง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ไข่ไก่ และมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเกษตรกร ได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการผลิตข้าวนาปี ในพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 1,050 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N)เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 604 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง พื้นที่ S1/S2 เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,252 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N เฉลี่ย 934 บาท/ไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 6,508 บาท/ไร่ และ ไข่ไก่ ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 0.07 บาท/ฟอง
หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวของจ.อ่างทอง พบว่า พื้นที่ S1/S2 สำหรับปลูกข้าวมี 366,388 ไร่ และพื้นที่ S3/N มีเพียง 13,859 ไร่ โดยพื้นที่ไม่เหมาะสมบางส่วนเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย ได้แก่ การปลูกผักต่างๆ เช่น ตะไคร้ มีต้นทุนการผลิต 22,089 บาท/ไร่ ใน 1 ปี ปลูกได้ถึง 2 รอบเกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 20,086 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 13-15 บาทโดยตะไคร้สามารถทำสมุนไพรแปรรูปส่งขายได้ทั้งตลาดภายในและนอกจังหวัด
ชะอม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 19,734 บาท/ไร่ ยิ่งดูแลถูกวิธีและให้น้ำสม่ำเสมอเก็บยอดได้วันเว้นวัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรเกือบทุกวัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 22,266 บาท/ไร่/ปี ราคารับซื้อในจังหวัดกิโลกรัมละ10-15 บาท ส่งขายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และผู้บริโภคโดยตรง นอกจากตัดยอดขายแล้วยังชำกิ่งพันธุ์ขายได้อีก
ข่าแดง (ข่าอ่อน) มีต้นทุนการผลิต 68,998 บาท/ไร่ เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยว ยังปล่อยทิ้งไว้ได้อีกประมาณ 7-8 เดือน เพราะข่าจะแตกหน่อใหม่ต่อเนื่อง ให้ผลตอบแทน สุทธิเฉลี่ย 27,003 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-20 บาท และยังนำมาแปรรูปเป็นส่วนผสมของพริกแกง
มะเขือเทศราชินี มีต้นทุนการผลิต 34,252 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 46,891 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-60 บาท นอกจากการปลูกผักต่างๆ แล้ว เกษตรกรยังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาได้ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิต 4,161 บาท/ไร่ ระยะเก็บเกี่ยว 120 วันเกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 3,172 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อ ในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-8 บาท ส่งขายแหล่งรับซื้อที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) กล่าวเสริมว่านอกจากนี้ การปลูกไม้ยืนต้น(ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) เพื่อแซมในพื้นที่ว่างเปล่าของเกษตรกรยังเป็นอีกทางเลือกเสริมรายได้ อาทิ ต้นสัก ต้นพยูง ต้นมะค่า ต้นประดู่ ต้นสะเดา ต้นเต็ง และ ต้นรัง เนื่องจากเป็นไม้ที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้ ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในภาคกลาง สอบถามได้ที่สศท. 7 โทร. 0-5640-5005-8 หรืออีเมล zone7@oae.go.th