นับถอยหลังอีก 4 เดือนถึงกาลอวสาน 3 สารอันตราย จริงหรือ!

นับถอยหลังอีก 4 เดือนถึงกาลอวสาน 3 สารอันตราย จริงหรือ! “รมช.มนัญญา” ออกโรงยกเลิกใช้ พาราควอต ไกลโฟรเซต คลอร์ไพริฟอส เร็วที่สุดปีนี้ลั่นต้องหายไปจากประเทศไทย แต่ฉากหลังยังสวนทาง เผยอนุญาตให้นำเข้าปี 62 กว่า 7.1 หมื่นตัน

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการเลิกใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร กำจัดแมลงศัตรูและวัชพืช 3ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟรเซต คลอร์ไพริฟอส ว่าได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ทบทวนการใช้สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง ทั้ง3ชนิด และปุ๋ย ยา หรือสารเคมีชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการอนุญาตนำเข้า ให้ชะลอไว้ก่อนโดยตนมีเป้าหมายว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายในปี 2562 จะต้องหายไปจากประเทศไทย

“ช่วงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคต้องมาก่อน และขอให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดป้องปรามปุ๋ยปลอมด้วยการระบุบาร์โค้ด เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือไม่ ซึ่งเกษตรกรต้องได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากสารเคมี ทั้งนี้ ฉลากยาอันตรายที่กำกับบนผลิตภัณฑ์สารเคมีเกษตรจะต้องมีตัวหนังสือที่ชัดเจน อ่านง่าย ไม่ตัวเล็กจนเกินไป โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรในการเลือกใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรอย่างปลอดภัยด้วย”น.ส.มนัญญา กล่าว

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า พร้อมกันนี้สั่งให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์กัญชาที่จะปลูกให้ได้คุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้กลุ่มสหกรณ์เป็นผู้ปลูกและรับซื้อผลผลิตอย่างถูกต้อง โดยผลการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน รวม 3 อย่างให้เป็นหนึ่งเดียว อย่าต่างคนต่างทำ โดยกรมวิชาการเกษตรควรมีข้อมูลว่า ขณะนี้ทางสมาชิกสหกรณ์ต้องการทำอะไร หรือปลูกพืชชนิดไหน แล้วจึงทำการวิเคราะห์วิจัยพันธุ์พืชชนิดนั้นเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้ตรงจุด สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตร จะแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกรได้ยั่งยืน

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันโรคพืชและแมลงที่จะเข้ามาแพร่ระบาดในไทย รวมทั้งให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ขอให้คำนึงถึงความต้องการของตลาด พร้อมทั้งใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด

รายงานข่าว แจ้งว่า ก่อนหน้านี้นโยบายการจำกัดการใช้3สารเคมี ในสมัยของนายกฤษฏา บุญราช อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่เร่งรัดแผนจำกัดการใช้ และให้ลดการนำเข้า 3 สารเคมีอันตรายลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมปีละ6-7หมื่นตัน พร้อมกับตรวจสต็อกเอกชนทุก15วัน ประกอบด้วย 1.พาราควอต 2.ไกลโฟเซต และ 3.คลอร์ไพริฟอส รวมทั้งมีเป้าหมายให้เลิกใช้ภายในปี63 แต่ปรากฏว่าสวนทางกับการอนุญาตของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้เอกชนยื่นขออนุญาตนำเข้า โดยพบว่าปริมาณนำเข้าสารเคมีวัตถุอันตรายยังเพิ่มขึ้น เช่น พาราควอต ปี 62 อยู่ที่จำนวน 21,709 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีจำนวน 21,412 ตัน , ไกลโฟเซต ปี 62 จำนวน 48,501 ตัน รวมนำเข้า3สาร 71,142 ตัน และที่ผ่านมาทั้งยังมีนโยบายการยกเว้นภาษีนำเข้า ประมาณ 5,600 ล้านบาทต่อปี ทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 5,900 ล้านบาทต่อปี แก่บริษัทสารพิษ ซึ่งมีมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี อ้างว่าเป็นการลดการผลักภาระต้นทุนแก่เกษตรกร และกระทรวงเกษตรฯ ยังของบเกือบร้อยล้านจัดอบรมการใช้สารเคมีดังกล่าวให้แก่เกษตรกรกว่า 1.5 ล้านครอบครัว