นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท Pan Asia Silk Road จำกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการส่งออกทุเรียนทางรถไฟ (มาบตาพุด – คุนหมิง) ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด อำเภอเมืองจังหวัดระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียน ผ่านเส้นทางรถไฟไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ด่านตรวจพืชในพื้นที่ภาคตะวันออก เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ร่วมให้การต้อนรับ
การเปิดใช้รถไฟสายไทย – ลาว – จีน ผ่านสถานีรถไฟมาบตาพุดมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 135 ตู้ ทุเรียน 109 ตู้ ลำไย 26 ตู้ มูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนใต้จากจังหวัดชุมพร จะขนส่งมาโดยรถบรรทุก แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีมาบตาพุด ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง จากสถานีท่านาแล้งจะมีการเปลี่ยนรถไฟ โดยใช้รถบรรทุกจากฝั่งลาว ขนส่งไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทร์ใต้ ลำเลียงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน หรือ ด่านโม่ฮาน (เปลี่ยนรถบรรทุกเข้าด่านที่บ่อเต็น) หากเป็น คุนหมิง ยูนนาน สามารถผ่านด่านทางรถไฟโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุก โดยการชนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟนี้ จะใช้เวลาประมาณ 4 วัน เห็นได้ว่าเส้นทางการขนส่งทุเรียนผ่านรถไฟลาว – จีน เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ที่มีศักยภาพ รวดเร็ว ลดระยะเวลา ประกอบกับสามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต่างให้ความสนใจ เลือกใช้เป็นเส้นทางส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลผลิตทุเรียนสด สามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็วและสร้างความพึงพอใจในรสชาติทุเรียนของไทย ส่งผลให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพตลอดฤดูกาล พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการกำกับดูแล ให้ทุเรียนไทย ได้รับมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน นับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยด้วยระบบราง ภายใต้พิธีสารการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย – จีน ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทย – ลาว – จีน โดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร และการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบให้บริการด้านการส่งออกด้วยการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางบกโดยการขนส่งทางราง เพื่อลดความแออัดที่หน้าด่านนำเข้าของจีนในส่วนของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างที่หน้าด่านในช่วงที่มีผลผลิตในปริมาณมากๆ เหมือนเช่นที่ปีก่อนๆที่ผ่านๆมา เกิดความล่าช้า ผลผลิตเน่าเสีย ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ และส่งผลมาจนถึงราคาผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรเกิดความผันผวน
ในวันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ได้ร่วมกันติดตามกระบวนการขั้นตอนการส่งออกทุเรียน และ มังคุด วันนี้ มีการขนส่งทั้งหมด 15 ตู้ เป็นทุเรียน 14 ตู้ น้ำหนักรวม 254 ตัน มังคุด 1 ตู้ น้ำหนัก 17 ตัน รวม 271 ตัน โดยจะร่วมกันตัดซิล เปิดตรวจตู้ทุเรียน 1 ตู้ และ ตู้มังคุด 1 ตู้ พร้อมร่วมกันติดซิลตู้ ส่งรายงานให้ด่านหนองคายทราบเพื่อออกใบ pc นอกจากนี้ยังได้ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มงวดในมาตรการการตรวจสอบศัตรูพืช ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด เพื่อให้ทุเรียนภาคใต้ที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทาง มีคุณภาพได้มาตรฐานเช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผลผลิตออกมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวการจับกุมทุเรียน และกระบวนการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP กรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินมาตรการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการจดทะเบียนผู้ส่งออกและการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการพักใช้หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ย้ำขอให้พี่น้องเกษตรกรเก็บรักษาใบ GAP ไว้อย่างดี ใบรับรอง GAP ของท่านมีค่าอย่าให้ใครนำมาใช้สวมสิทธิ์ รวมถึงหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงาน (ล้ง, ใบ DOA) ของท่านไม่สามารถให้เช่าใช้แทนกันได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตามกรมวิชาการเกษตรสามารถระงับใช้หรือเพิกถอนใบ GAP/GMP หรือหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนล้งได้
นอกจากนี้ ในประเด็น ข้าวโพด กระเทียม และ หอมแดง ทราบว่า อาจมีการลักลอบนำเข้า หรือ สำแดงเท็จ โดยเฉพาะจากแนวชายแดนนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และ กรมศุลกากร เน้นย้ำ สินค้าพืชและผลไม้ทุกชนิดต้องมีมาตรฐานในการนำเข้า ส่งออก เป็นไปตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในวันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ติดตาม ขยายผลการสั่งระงับล้ง และ ระงับ บริษัทผู้ส่งออก ผู้กระทำความผิด โดย สั่งการให้ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ประสานหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมส่ง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ลงพื้นที่ กำชับด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบการส่งออก/นำเข้า สินค้าเกษตรทุก lot ต้องมีคุณภาพ และห้ามมีการสวมสิทธิ์ หรือสำแดงเท็จอย่างเด็ดขาด หากพบสวมสิทธิ์ สั่งดำเนินคดีทางกฎหมาย ทุกกรณี ติวเข้ม ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิต ทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด
ที่มา :: กรมวิชาการเกษตร