ภัยแล้งลามหนัก ทำพื้นที่เกษตรเสียหาย 2.29 แสนไร่ นาข้าวเสียหายมากสุดยืนต้นตายกว่า 1.5 แสนไร่ ข้าวโพด 6.2 หมื่นไร่ ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 3 จว.

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.62 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 เพื่อสำรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทุกจังหวัด และจัดทำสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เสียหายผ่านระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร (รต.) ของกรม พร้อมทั้งให้จังหวัดรายงานสถานการณ์เข้ามาทุกวันอังคารของสัปดาห์นั้น จากการตัดยอดข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ค. 2562 สรุปสถานการณ์พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย พบว่ามีพื้นที่ปลูกหรือคาดว่าจะปลูกทั้งหมด 86,552,108 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 72,750,126 ไร่ (ร้อยละ 84) พื้นที่ยังไม่เพาะปลูก 13,801,983 ไร่ (ร้อยละ 16)

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้วเสียหายสิ้นเชิง เบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 229,648 ไร่ (ร้อยละ 0.31 หรือไม่ถึง 1%) แยกเป็น ข้าว 156,881 ไร่ (ร้อยละ 0.31) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 62,817 ไร่ (ร้อยละ 1.42) มันสำปะหลัง 8,621 ไร่ (ร้อยละ 0.10) และอ้อยโรงงาน 1,329 ไร่ (ร้อยละ 0.01) ขณะนี้มีจังหวัดที่รายงานพื้นที่การเกษตรเสียหายเบื้องต้น และผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี และชัยภูมิ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของกรมระยะเร่งด่วนได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรให้เกษตรกรในพื้นที่ ส่วนระยะกลาง ระยะยาว เน้นสร้างการรับรู้ให้แนะนำการดูแลรักษาพืช การจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่สวนไม้ผล จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) ปรับระบบการเกษตรโดยสร้างแหล่งน้ำในไร่นาตามศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูฝนถึงฤดูแล้ง ในส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากแล้งหรือฝนทิ้งช่วงปีนี้ ยังยึดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง และการประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งได้ซื้อประกันภัยไว้แล้ว สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งและฝนทิ้งช่วงต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และจะช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง