“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งกำจัดผักตบชวา-วัชพืช ทุกลุ่มน้ำรองรับฤดูน้ำหลาก

“บิ๊กป้อม” เตรียมขึ้นฮอสำรวจเส้นทางน้ำ สั่งกรมชลฯ เร่งกำจัดผักตบชวา วัชพืช ทุกลุ่มน้ำเสร็จสิ้นเดือนก.ค. รับฤดูน้ำหลาก ชี้พายุเข้าไทย 2 ลูก เดือนส.ค.-ก.ย.พื้นที่แนวพายุพาดผ่านเสี่ยงอุทกภัย เตรียมประสานทุกพื้นที่ระดมหน่วยงาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ เกาะติด กทม.ป้องน้ำท่วม ก่อน3น้ำมาสมทบออกอ่าวไทย

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ตรวจสถานการณ์ผักตบชวา-วัชพืช เส้นทางน้ำในลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวา แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน ซึ่งตนและผู้บริหาร กรมชลประทาน ได้ร่วมคณะโดยกรมชลฯรับผิดชอบเส้นทางน้ำกว่า 5.2 แสนกม. เป็นภาระกิจหลักในการกำจัดผักตบและวัชพืช กีดขวางทางน้ำที่ได้เร่งจัดเก็บอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผักตบ เป็นวัชพืชขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นอุปสรรคการระบายน้ำ ได้วางเป้าหมายกำจัดให้เสร็จสิ้นทุกเส้นทางน้ำเดือนก.ค.นี้ ก่อนฤดูน้ำหลาก ใช้งบปีละ 120 ล้านบาท ซึ่งใช้เครื่องจักรเก็บ และคนเก็บ รวม 2.5 ล้านตัน

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ก.ค.แม้เข้าหน้าฝนแล้ว ดังนั้นการเพาะปลูกของเกษตรกรให้รอฝนตกอย่างเสมำเสมอ และใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำเกษตร ทั้งนี้กรมชลฯวางแผนจัดสรรน้ำจนถึงเดือนก.ค. ใช้น้ำจากเขื่อนในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ซึ่ง4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวมกัน 1.2 พันล้านลบ.ม.คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก ระบายน้ำวันละ 20 ล้านลบ.ม. และแผนบรรเทาอุทุกภัย เดือน ส.ค.-ก.ย.กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุเข้าไทย 2 ลูก แนวพายุพาดผ่านคือภาคเหนือ ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสาน ภาคอีสานตอนบน ได้สั่งเจ้าหน้าที่ทุกสำนักงานชลประทาน ทั้งแจ้งประสานหน่วยงานในท้องถิ่น เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ส่วนปลายเดือนก.ย.-ต.ค.แนวร่องฝนและน้ำหลาก ลงสู่ภาคกลาง ซึ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จะมีผลกระทบเฝ้าระวังอุทกภัย ส่วนปลายปีแนวฝนลงภาคใต้ ทั้งนี้สถานการณ์น้ำปีนี้ได้ จำลองไว้ 5 กรณี สำหรับปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% เทียบได้กับปี 2538 มีพายุเข้าลักษณะเดียวกัน จะมีน้ำมากกว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.ปีที่ผ่านมา 7% และตั้งแต่เข้าฤดูฝนนี้ได้น้ำเข้าเขื่อนทั่วประเทศสัปดาห์ละ 150 ล้านลบ.ม.

“เตรียมประสานทุกจังหวัด แจ้งพื้นที่ ปภ.บูรณาการร่วมกันเกาะติดพื้นที่เสี่ยงไปติดตั้ง เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ไว้ก่อนล่วงหน้าให้ประชาชนเห็นจะได้สบายใจ หน่วยงานมีการเตรียมพร้อมเชิงรุกพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด24ชม.”ดร.ทองเปลว กล่าว

ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้คาดว่าจะมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว กว่า3พันล้านลบ.ม.โดยทำแบบจำลองฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย5% จะมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนทั่วประเทศ 50,430ล้านลบ.ม.ของความจุ ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำ 16,114 ล้านลบ.ม. หรือ 65% มากกว่าปี 62 ประมาณ 4,040 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.แนวพายุพาดผ่าน ภาคเหนือ ลุ่มน้ำน่าน อีสานตอนบน เป็นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ส่วนในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ได้มีบูรณาการร่วมกับกทม.ซึ่งต้องเตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้าอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งน้ำหลาก น้ำทะเลหนุน และน้ำฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพ โดยมีปริมาณน้ำที่ต้องไหลผ่านกรุงเทพ ออกอ่าวไทย

“กรมชลฯ บริหารจัดการ 3 น้ำ ก่อนที่ไหลจะมาสมทบกันที่กรุงเทพ โดยตอนบนกักเก็บน้ำทุกเม็ดไว้ในเขื่อน ตอนกลางหน่วงน้ำ จัดจราจรทางน้ำ ที่เขื่อนเจ้าพระยา ปัดออกทางฝั่งขวา ออกแม่น้ำท่าจีน ออกอ่าวไทยทางจ.สมุทรสาคร และปัดออกทางซ้าย ผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ ตอนปลายเร่งระบายออกทางโครงการสูบน้ำชลหารพิจิตร ออกแนวทะเล จ.สมุทรปราการ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา จะควบคุมระดับน้ำ ที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 3.5 พันลบ.ม.ต่อวินาที“รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว