ทานตะวัน เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจรองจากถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ทานตะวันค่อนข้างทนแล้งได้ดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนสูง น้ำมันทานตะวัน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีสาร antioxidants กันหืนได้ดี สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น เนื่องจากน้ำมันทานตะวันมีคุณค่าสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
การเตรียมดินการเตรียมดินก่อนปลูก ควรไถดินให้ลึกในระดับ 30 เซนติเมตร หรือลึกกว่านั้น การไถดินลึก จะช่วยทำลายการอัดแน่นของดินในชั้นไถพรวน ทำให้น้ำซึมลงในดินชั้นล่างได้มากขึ้น และไถย่อยดินครั้งสุดท้ายให้ร่วนซุย ควรมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปพร้อมกับการย่อยดินครั้งสุดท้าย
การปลูกหลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ควรทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด โดยให้แต่ละร่องห่างกัน 70-75 เซนติเมตร และให้หลุมปลูกในร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบดินโดยให้เมล็ดอยู่ลึก 5-8 เซนติเมตร เมื่อพืชงอกได้ 10 วัน หรือมีใบจริง 2-4 คู่ ให้ถอนแยกเหลือไว้เฉพาะต้นที่แข็งแรงเพียงหลุมละ 1 ต้น การยกร่องนี้ เพื่อเป็นการสะดวกในการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในฤดูแล้งที่ต้องการน้ำมาก ส่วนการปลูกในฤดูฝน ถ้าเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี ก็ไม่จำเป็นต้องยกร่อง และใช้ระยะปลูกเช่นเดียวกับยกร่องให้ใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม จำนวน 0.7 กิโลกรัมต่อไร่
การให้ปุ๋ยทานตะวัน เป็นพืชที่ให้โปรตีน และแร่ธาตุสูง จึงควรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พืชต้องการตามสภาพดินที่ปลูกด้วย สำหรับปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม ให้ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่รองพื้น พร้อมปลูก และใช้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อทานตะวันอายุได้ 30 วัน หรือมีใบจริง 6-7 คู่ ซึ่งเป็นระยะกำลังจะออกดอก หากมีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก จะช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและในกรณีที่เป็นดินทรายและขาดธาตุโบรอนควรใส่ผงบอแร็กซ์ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากและทำให้คุณภาพของเมล็ดทานตะวันดีขึ้น
การให้น้ำ น้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผลผลิตของทานตะวัน หากความชื้นในดินมีน้อยก็จะทำให้ผลผลิตลดลงด้วย การให้น้ำที่เหมาะสมแก่ทานตะวันจึงจะทำให้ได้รับผลผลิตดีด้วย การให้น้ำควรทำทุกระยะของการปลูก อย่างสม่ำเสมอ คือ ระยะหลังจากปลูกเสร็จแล้วรีบให้น้ำทันที หรือควรทำการปลูกทันที หลังฝนตกเพื่อใช้ความชื้นในดินให้เต็มที่โดยไม่ต้องรดน้ำ จากนั้น ควรให้น้ำทึกระยะ คือ ในระยะมีใบจริง 2 คู่ ระยะเริ่มมีตาดอก ระยะดอกเริ่มบาน ระยะกำลังติดเมล็ด ควรให้น้ำอย่างเพียงพอให้ดินชุ่ม แต่ไม่ต้องถึงกับแฉะและน้ำขังการให้น้ำควรคำนึงถึงความชุ่มชื้นในดินด้วย
การเก็บเกี่ยวให้เก็บเกี่ยวทานตะวันในช่วงอายุประมาณ 90-120 วัน หรือหลังจากจานดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว ประมาณ 7-14 วัน โดยใช้กรรไกรตัดจานดอก โดยเลือกเฉพาะดอกที่สมบูรณ์
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวให้นำจานดอกที่เก็บเกี่ยวแล้วตากแดด 1-2 แดด และคลุมกองจานดอกทานตะวันด้วยผืนผ้าใบในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันน้ำค้าง การกะเทาะเมล็ดจากจานดอก โดยใส่จานดอกในถุงผ้า หรือกระสอบแล้ว ใช้ท่อนไม้ทุบ หรือใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองจากนั่นนำเมล็ดที่กะเทาะแล้ว ไปตากแดด 1-2 แดด เพื่อลดความชื้นในเมล็ด แล้วทำความสะอาดเมล็ดแล้วบรรจุในกระสอบป่าน ควรวางกระสอบที่บรรจุเมล็ดทานตะวันในที่ร่ม
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ควรเป็นพื้นที่ดอน หรือที่ลุ่มไม่มีน้ำท่วมขัง มีความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ลักษณะดินควรเป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศดี มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรีย์วัตถุพอเพียง มีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 6.0-7.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 18-35 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ