กสก. รณรงค์ไถกลบ-ทำปุ๋ยหมัก งดการเผา ลดปัญหามลพิษทางอากาศ

จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและทางเศรษฐกิจ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เริ่มดำเนินการโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ปี 2557 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งมีการขยายพื้นที่การส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กลางภาค ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการเผาในพื้นที่การเกษตรค่อนข้างสูง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และถ่ายทอดความรู้ด้านทำเกษตรปลอดการเผาให้กับเกษตรกรนำไปปฏิบัติ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อทดแทนการเผา เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และคืนชีวิตให้ดิน การนำฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูกมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี เป็นการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย หรือการเพิ่มมูลค่าจากเศษศวัสดุ เช่น การอัดฟางก้อน การเพาะเห็ดฟาง การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือแม้แต่การห่มดินโดยนำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า มาคลุมบริเวณโคนต้นพืช จึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเผาในพื้นที่เกษตร เพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และหมอกควันในพื้นที่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การไถกลบเศษวัสดุการเกษตรลงไปในดิน นอกจากจะช่วยลดปัญหาการเผาแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อการผลิตพืชอีกหลายประการ ได้แก่ การฟื้นฟูโครงสร้างดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณเนื้อดิน อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศมีสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้ดินโปร่ง รากพืชชอนไชง่าย พืชหาอาหารได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดี ผลผลิตสูง และช่วยพลิกให้ไข่แมลงและเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในดินกลับขึ้นมาฆ่าทำลายด้วยแสงแดด ส่งผลให้ลดปัญหาเรื่องโรคพืช มีการใช้สารกำจัดโรคพืชน้อยลง